ภาวะเฉยเมย หรือ Apathy คือ การที่ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม มีอาการนั่งอยู่นิ่งๆ นานๆ โดยไม่ยอมทำอะไร โดยจะพึ่งพาผู้อื่นในการให้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดยา เตรียมกับข้าวให้ ผู้ป่วยจะไม่สนใจพูดคุยหรือทำกิจกรรมที่ทำกับคนแปลกหน้า และไม่มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ลูกมีเรื่องตื่นเต้น ยินดี มาเล่า ก็ทำหน้าเฉยๆ เห็นคู่สมรสไม่สบาย เกิดอุบัติเหตุ ก็ดูเฉยๆ ไม่ใส่ใจ ทำให้สร้างทั้งความหงุดหงิด และกังวลใจให้กับญาติๆ และผู้ดูแลผู้ป่วย
ภาวะเฉยเมย หรือ Apathy จะเจอได้ในโรคอัลไซเมอร์ เมื่ออาการเป็นมากระดับหนึ่ง ในขณะที่โรคพาร์กินสันที่มีสมองเสื่อมร่วม, Frontotemporal dementia หรือ dementia with Lewy bodies จะเกิด apathy จะเกิดได้เร็วกว่านั้น
Apathy จะต่างจากภาวะซึมเศร้า ในแง่ ว่า โรคซึมเศร้าจะมีอาการต่อไปนี้
– ความรู้สึกผิด (guilt)
– ความรู้สึกเศร้า (sadness)
– ร้องไห้ หงุดง่าย กระวนกระวาย
– รู้สึกตัวเองไม่มีค่า (low self worth)
ภาวะเฉยเมยนี้ ไม่สามารถแก้ไขด้วยยาได้ ต่างจากโรคซึมเศร้า ที่จะมีการให้ยาต้านซึมเศร้า การรักษาภาวะเฉยเมยนี้ด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น
พยายามหางาน กิจกรรมที่ผู้ป่วยรู้สึกชอบและยังทำได้ และชื่นชมที่ผู้ป่วยทำได้ เช่น ทำอาหารง่ายๆ ทำงานศิลปะ ช่วยพับผ้า ดูแลเล่นกับหลานๆ
เมื่อผู้ป่วยทำอะไรผิดพลาด ต้องทำให้ผู้ป่วยยังรู้สึกสบายใจ ไม่ดุจนเกินไป เช่น ทำน้ำหก ทำอาหารไหม้ ก็ยังช่วยงานบ้านได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยที่ต้องระวัง
ปรับชีวิตประจำวัน ให้ง่ายขึ้น เพื่อ ผู้ป่วยจะทำเองได้ และส่งเสริมให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองได้ เช่น การจัดเสื้อผ้าในตู้ เอาเสื้อผ้าที่ใส่แล้วยุ่งยากต้องให้คนช่วยออกจากตู้ เหลือเสื้อผ้าง่ายๆที่ใส่ง่ายให้ผู้ป่วยใส่เอง เช่น ใช้ซิป ติดเวลโคร แทนการผูกโบว์ ติดกระดุม
อย่าดุคนไข้เมื่อทำอะไรเองไม่ได้ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเสียความมั่นใจ
การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีภาวะ apathy อาจเป็นเรื่องยาก ต้องใช้กำลังกายและกำลังใจเยอะ แต่เมื่อเราค่อยๆฝึกปรับพฤติกรรมไปเรื่อยๆ หมอเชื่อว่า ทั้งตัวผู้ป่วยจะอาการดีขึ้น และผู้ดูแลผู้ป่วยจะมีความสุขมากขึ้นแน่นอนค่ะ